PAC อุทยานฯ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ประชุมติดตามผลงานและพิจารณาโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวโลว์ซีซั่น


กระบี่: เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 เวลา 13.30 น. นายนิธิวุฒิ ระวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี (PAC) ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ชั้น 2 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมี นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี พร้อมด้วยคณะกรรมการ PAC เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ในการประชุมครั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยมีสถิติเงินอุทยานแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 400,250,240 บาท และมีนักท่องเที่ยวรวม 1,132,248 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 76,035 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 1,056,213 คน คิดเป็น 100% ของเป้าหมาย นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามข้อปฏิบัติ การจัดเก็บค่าบริการ การตรวจใบอนุญาตประกอบกิจการนำเที่ยว รวมถึงขอความร่วมมือเรื่องการงดใช้โฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการเดินเรืออย่างระมัดระวังในพื้นที่อุทยานฯ โดยเฉพาะบริเวณแหล่งอาศัยของพะยูนและแนวหญ้าทะเล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการขออนุญาตโครงการในพื้นที่อุทยานฯ จำนวน 10 โครงการ พิจารณาโครงการขออนุมัติใช้จ่ายเงินอุทยานฯ ประเภท ค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 1 โครงการ และพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่อุทยานฯ ในการจัดโครงการและกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นของจังหวัดกระบี่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ Green Event (15-18 พฤษภาคม 2568), กิจกรรมการแข่งขัน "ซีนิคฮาล์ฟมาราธอนกระบี่ 2025" (6-7 กันยายน 2568) และกิจกรรมแข่งขันกีฬา Krabi Skimboard Competition ครั้งที่ 3 (13-14 กันยายน 2568) ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ ตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบระบบผลิตน้ำประปากิจการประปาเกาะพีพี ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน งบประมาณ 300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน ที่ประชุมได้รับทราบถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะการวางท่อผ่านแนวปะการัง และผลกระทบจากการปล่อยน้ำทะเลเข้มข้นกลับสู่ทะเล โครงการดังกล่าวมีการวางแผนที่จะรื้อย้ายปะการังประมาณ 114 ก้อน ในพื้นที่ 5 เมตร ตามแนวท่อ และจะติดตั้งม่านกันตะกอนฟุ้งระหว่างการขุดร่องวางท่อด้วยแรงคน รวมถึงการใช้หัวปล่อยน้ำทิ้งแบบหลายช่อง (Multiport diffusers) เพื่อลดผลกระทบต่อแนวปะการัง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ผู้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเค็มของน้ำที่ผ่านกระบวนการและปล่อยคืนสู่ทะเล ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นหรือไม่ และหากเกิดผลกระทบ จะมีแนวทางการฟื้นฟูอย่างไร พร้อมทั้งขอให้มีการติดตามการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง

///

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น