วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมเหนือคลอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อหารือความร่วมมือในการอนุรักษ์ "ปลากัดอมไข่กระบี่" ปลาประจำถิ่นที่พบเฉพาะในจังหวัดกระบี่ และหารือแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ปลากัดอมไข่กระบี่: ปลาเฉพาะถิ่นที่กำลังเผชิญภัยคุกคาม
ปลากัดอมไข่กระบี่ เป็นปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในลำธารหินปูนในพื้นที่ราบต่ำของจังหวัดกระบี่ ปลาชนิดนี้มีความพิเศษคือตัวผู้จะอมไข่ไว้ในปากจนกว่าลูกปลาจะฟักเป็นตัว อย่างไรก็ตาม ปลากัดอมไข่กระบี่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามหลายประการ ได้แก่:
- การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย: พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย
- มลภาวะ: ลำธารที่ปลาอาศัยอยู่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะและการพัฒนาต่างๆ เช่น การตกตะกอนของดิน
- การจับปลามากเกินไป: ปลากัดอมไข่กระบี่เป็นที่นิยมในวงการปลาสวยงาม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกจับมากเกินไป นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นเหยื่อล่อปลาในชุมชนท้องถิ่น
- ความรู้ความเข้าใจที่จำกัด: ความรู้เกี่ยวกับปลาชนิดนี้ในระดับท้องถิ่นยังมีจำกัด และชุมชนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจถึงความเปราะบางของมัน
ความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์
สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้เสนอโครงการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ปลากัดอมไข่กระบี่ โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ปลาชนิดนี้
จังหวัดกระบี่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ปลากัดอมไข่กระบี่และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในพื้นที่ โดยมุ่งสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ตามนโยบาย Krabi Go Green และนำไปสู่การจัดทำกฎบัตรกระบี่
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลากัดอมไข่กระบี่
- อาศัยบริเวณแหล่งน้ำที่ไหลมาจากแนวภูเขาหินปูนและน้ำที่มีความเป็นด่าง
- ชอบอาศัยบริเวณน้ำตื้น ตามพงหญ้าและใต้ใบไม้ ซึ่งมีทั้งน้ำที่นิ่งและน้ำไหลเอื่อยๆ รวมถึงพบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ตัวผู้จะทำหน้าที่อมไข่ไว้ในปากราว 15 – 20 วัน โดยไม่กินอาหารเลยจนกว่าจะคายลูกออกมา
- อัตราการอมไข่ต่อครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 25 – 50 ฟอง
- อัตราการรอดในที่เพาะฟักแบบปิดจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 40 ตัว
- ปัจจุบัน ปลากัดอมไข่กระบี่ยังไม่ประกาศขึ้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่กระนั้น ก็มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติที่จะสูญพันธุ์ไป ตามบัญชีของ IUCN.
0 ความคิดเห็น